ประวัติหลวงพ่อพยุง สุนทโร

หลวงพ่อพยุง สุนทโร เป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี ท่านมีนามเดิมว่า พยุง เกิดเมื่อ วันศุกร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ปีมะแม พ.ศ. 2474 ณ.บ้านห้วยมะซาง หมู่ 1 ตำบลหนอหญ้าไซ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี บิดาชื่อนายเจิม เกตุประทุม มารดาชื่อนางปั่น เกตุประทุม หลวงพ่อพยุงมีพี่น้องรวม 7 คน หลวงพ่อพยุงเป็นที่คน 5


เมื่อวัยเด็ก

พอมีอายุครบเกณฑ์การศึกษา บิดามารดาได้ส่งเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนวัดบัลลังก์ ตำบลหนองหญ้าไซ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เรียนได้แค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ก็ต้องลาออกจากโรงเรียน เนื่องจากท่านเป็นเด็กที่ไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัว เมื่อออกจากโรงเรียนได้มาช่วยบิดา มารดา ประกอบอาชีพ แม้ท่านจะมีสุขภาพที่ไม่ค่อยแข็งแรง แต่ก็เป็นคนขยันขันแข็งหาเด็กอื่นเทียบได้ยากในหมู่บ้านเดียวกัน เพราะเป็นคนที่นอนตื่นแต่เช้ามืดตื่นก่อนใครทั้งหมด เป็นอย่างนี้ประจำเสมอมา และยังเป็นคนรู้จักมัธยัสถ์แต่เด็ก ใช้จ่ายทรัพย์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทั้งไม่เล่นการพนัน เสพของมึนเมา ไม่เที่ยวเตร่จนเสียงาน เป็นเด็กที่ว่านอนสอนง่าย จนเป็นบุตรที่รักใคร่ของบิดา มารดา ดุจหัวแก้วหัวแหวนเลยทีเดียว บิดาของท่านซึ่งมีความรู้พิเศษเกี่ยวกับเวทมนต์ คาถาอาคมต่าง ๆ และแพทย์แผนโบราณ จนชาวบ้านยอมรับนับถือ จนเมื่อหลวงพ่อพยุง เจริญวัยพอสมควรแล้วก็ถ่ายทอดวิชาต่าง ๆ ให้จนหมดสิ้นช่วงชีวิตในวัยเด็กของหลวงพ่อพยุง นับเป็นชีวิตที่สั่งสมประสบการณ์ได้อย่างคุ้มค่าทีเดียว

เมื่อถึงวัยที่จะต้องทดแทนบุญคุณของบิดา มารดา เหมือนชายไทยทั่วไป บิดา มารดา ก็พาสู่ร่มกาสาวพัตร์ เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์


ความกตัญญูรู้คุณ

หลวงพ่อพยุง ท่านมีนิสัยมาตั้งแต่เด็ก คือความกตัญญู นอกเหนือจากตอบแทนคุณของครูบาอาจารย์ ด้วยความกตัญญูรู้คุณแล้ว เมื่อครั้งมารดาผู้ให้กำเนิด ได้ป่วยและมีอาการทรุดลงไปตามวัยชรา จึงเป็นเหตุให้ท่านไปอยู่ปรนนิบัติมารดาขณะเจ็บป่วย หลวงพ่อพยุงในเวลานั้น ท่านได้ตอบแทนบุญคุณของมารดาได้อย่างสมบูรณ์ที่สุดถึงแม้จะบวชเป็นพระภิกษุ สงฆ์แล้วก็ตาม

หลวงพ่อพยุง พยายามรักษาพยาบาล มารดาทุกอย่างไม่ว่าจะ ป้อนข้าว ป้อนยา เทกระโถนอุจาระ ปัสสาวะ นับได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการตอบแทนพระคุณได้อย่างสูงยิ่ง จนกระทั่งวาระสุดท้ายของมารดาได้สิ้นใจลงในออ้มแขนของท่าน แต่ศพของมารดาก็มิได้เผา หลวงพ่อพยุงเอาใส่โลงอย่างดี แล้วเก็บเอาไว้บนหัวนอนภายในกุฎิ เพื่อสักการบูชาอยู่เสมอ มารดาได้เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2515 และบิดาเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2525 หลวงพ่อพยุงก็เก็บศพเอาไว้ในกุฏิเหมือนกับศพของโยมมารดา หลวงพ่อได้เก็บศพของโยมมารดาไว้ 21 ปี ศพของโยมบิดา 11 ปี และเมื่อปี 2536 หลวงพ่อพยุงได้สร้างเมรุเสร็จ จึงได้ทำการฌาปนกิจพร้อมกัน ท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองอย่างสูงสุด สมกับคำว่า “นิมิตตํ สาธุรูปานํ กตญญู กตเวทิตา” ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี

การอุปสมบทเป็นภิกษุ

หลวงพ่อพยุงได้อุปสมบทที่วัดหนองหลวง ตำบลหนองหญ้าไซ อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. 2494 พระครูศรีคณานุรักษ์ (หลวงพ่อสม) วัดดอนบุปผาราม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาผล วัดพังม่วง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ประปลัดเตี้ยม (พระครูอาภัสสรคุณ) วัดดอนบุปผาราม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังจากอุปสมบทแล้ว ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดปู่เจ้า อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย แต่ท่านก็ไม่เคยคิดที่จะไปสอบธรรมสนามหลวง เพราะท่านไม่เคยหวังในลาภยศอะไร ท่านมีความสันโดษ มักน้อย และมีความเมตตา จึงเป็นที่รักใคร่ของคนใกล้ชิดและรู้จักเป็นอย่างดี

การศึกษาพุทธาคมและศาสตร์อื่น ๆ ของหลวงพ่อพยุง สุนทโรนั้น หลวงพ่อพยุงเกิดความสนใจเป็นอย่างมากที่จะศึกษาทางจิตศาสตร์วิทยา ท่านจึงเดินทางไปขอฝากตัวเป็นศิษย์กับ หลวงพ่อสด จนทสโร วัดปากน้ำภาษีเจริญ ธนบุรี

หลวงพ่อพยุงได้ศึกษาเรียนวิชาอยู่กับหลวงพ่อสดเป็นเวลา 4 เดือน หลังจากนั้นก็ได้กราบลาหลวงพ่อสด มาอยู่วัดน้ำพุ อำเภอวิเศษไชยชาญ จังหวัดอ่างทอง ฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อเต่า

หลวงพ่อเต่าได้แนะนำพิธีการ การปฏิบัติวิชาอาคมต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด หลวงพ่อเต่าได้เมตตาสั่งสอน อบรมจิตใจให้จนแก่กล้า แล้วจึงให้เริ่มศึกษาศาตร์วิทยาต่าง ๆ หลวงพ่อเต่า ได้ทำการมอบตำราที่เกี่ยวกับจิตศาตร์ วิทยาอาคมทั้งหลายให้จนหมดสิ้น

ในปีต่อมาท่านกราบลาหลวงพ่อเต่า เพื่อเดินทางไปศึกษาวิชา อาคม กับ หลวงพ่อมุ่ย พุทธรกขิโต ( หลวงพ่อพระครูสุวรรณวุฒาจารย์ ) แห่งวัดดอนไร่ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านเป็นพระเถระที่มีคุณธรรมสูง จิตใจสงบเยือกเย็น เมตตาปราณีมากนอกจากนี้ท่านยังเป็นพระผู้มีความชำนาญ เชี่ยวชาญในเรื่องอำนาจจิต และพุทธาคม

หลังจากที่หลวงพ่อพยุง เรียนวิชาอยู่กับหลวงพ่อมุ่ยได้ระยะหนึ่ง ท่านก็กราบลาหลวงพ่อมุ่ยกลับมายังวัดปู่เจ้าอีกครั้งหนึ่ง พอดีทางวัดบัลลังก์ขาดสมภารวัด  ญาติโยมจึงนิมนต์หลวงพ่อพยุงมาอยู่ที่วัดบัลลังก์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน เมื่อปี พ.ศ. 2499

หลวงพ่อพยุง ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดบัลลังก์ เมื่อปี พ.ศ. 2505 ขณะนั้นท่านอายุได้ 26 ปี ท่านต้องทำงานหนัก จากการพัฒนาวัดที่มีสภาพทรุดโทรมให้กลับกลายเป็นสภาพที่สมบูรณ์เจริญ รุ่งเรือง ถึงแม้ว่าสุขภาพจะไม่แข็งแรงเพราะมีโรคประจำตัวตั้งแต่เด็ก แต่ท่านก็ไม่เคยย่อท้อ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเป็นที่เคารพศัทธาของประชาชนทั่วไป