วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วันออกพรรษา

วันออกพรรษา หรือ วันปวารณาออกพรรษา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษา 3 เดือนของพระสงฆ์เถรวาท โดยเป็นวันที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรมปวารณาออกพรรษาในวันนี้ วันออกพรรษาตามปกติ (ออกปุริมพรรษา1) จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ประมาณเดือนตุลาคม) หลังวันเข้าพรรษา 3 เดือน ตามปฏิทินจันทรคติไทย
หมายเหตุ 1: ออกปุริมพรรษา คือการออกพรรษาต้น เป็นการเข้าและออกพรรษาตามปกติตามพระวินัยพุทธานุญาต พระสงฆ์ที่ออกพรรษาต้นจะได้รับกรานกฐินและได้รับอานิสงส์กฐิน แต่สำหรับพระสงฆ์ที่ออกพรรษาในกรณียกเว้นคือ ออกปัจฉิมพรรษา จะไม่มีโอกาสได้รับกฐินและอานิสงส์กฐิน เพราะจำพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 จึงต้องจำครบ 3 เดือน และต้องออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นเวลาหมดกฐินกาลพอดี (วันรับกฐินได้จะนับวันวันถัดจากวันออกพรรษาแล้ว 1 วัน)

ความสำคัญของวันออกพรรษา
การออกพรรษานั้น ถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะ เรียกว่า "ปวารณา" จัดเป็นญัตติกรรมวาจาสังฆกรรมประเภทหนึ่ง ที่ถูกกำหนดโดยพระวินัยบัญญัติให้โอกาสแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอดไตรมาสสามารถว่ากล่าวตักเตือนและชี้ข้อบกพร่องแก่กันและกันได้โดยเสมอภาค ด้วยจิตที่ปรารถนาดีซึ่งกันและกัน เพื่อสามารถให้พระสงฆ์ที่ถูกตักเตือนมีโอกาสรับรู้ข้อบกพร่องของตนและสามารถนำข้อบกพร่องไปแก้ไขปรับปรุงตัวให้ดียิ่งขึ้น
เมื่อถึงวันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลแก่พระสงฆ์ที่ตั้งใจจำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบไตรมาสพรรษากาลในวันนี้ และวันถัดจากวันออกพรรษา 1 วัน (แรม 1 ค่ำ เดือน 11) พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยยังนิยมไปทำบุญตักบาตรครั้งใหญ่ เรียกว่า ตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรเทโวโรหนะ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติที่กล่าวว่า ในวันถัดวันออกพรรษาหนึ่งวัน พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงจากเทวโลกกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพรรษาที่ 7 เพื่อลงมายังเมืองสังกัสสนคร พร้อมกับทรงแสดงโลกวิวรณปาฏิหาริย์เปิดโลกทั้งสามด้วย 
นอกจากนี้ ช่วงเวลาออกพรรษาตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ถือเป็นเวลากฐินกาลตามพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นช่วงเวลาที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะเข้าร่วมบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานกฐินประจำปีในวัดต่าง ๆ ด้วย โดยถือว่าเป็นงานบำเพ็ญกุศลที่ได้บุญกุศลมากงานหนึ่ง
ความสำคัญ
วันออกพรรษา คือ วันที่สิ้นสุดระยะการจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน (นับแต่วันเข้าพรรษา) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันมหาปวารณา" คำว่า "ปวารณา" แปลว่า "อนุญาต" หรือ "ยอมให้" ในวันออกพรรษานี้พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรมใหญ่ เรียกว่า มหาปวารณา เป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เพราะในระหว่างเข้าพรรษา พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข การให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ ทำให้ได้รู้ข้อบกพร่องของตน และยังเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันด้วย

ชาวพุทธทำอะไรกันในวันออกพรรษา
พุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลแก่พระสงฆ์ที่ตั้งใจจำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบไตรมาสพรรษากาลในวันนี้ นอกจากนี้พุทธศาสนิกชนยังนิยมร่วมกันทอดกฐิน ในระยะเวลา 1 เดือนหลังออกพรรษา มีทั้ง จุลกฐิน และ มหากฐิน อย่างไรก็ดี ในแต่ละท้องถิ่นยังมีประเพณีอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น การแข่งเรือ การเทศน์มหาชาติ เป็นต้น
ในวันออกพรรษานี้กิจที่ชาวบ้านมักจะกระทำก็คือ การบำเพ็ญกุศล เช่น ทำบุญตักบาตร จัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระที่วัด และฟังพระธรรมเทศนา ของที่ชาวพุทธนิยมนำไปใส่บาตรในวันนี้ก็คือ ข้าวต้มมัดไต้ และข้าวต้มลูกโยน และการร่วมกุศล "ตักบาตรเทโว" ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11
ในหมู่ชาวไทยและชาวลาวริมฝั่งแม่น้ำโขง เชื่อว่าในช่วงวันออกพรรษา จะเกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคขึ้นในเวลากลางคืน ที่จังหวัดหนองคายอีกด้วย

กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันออกพรรษา
  • ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ
  • ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
  • ร่วมกิจกรรม "ตักบาตรเทโว" (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11)
  • ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการและประดับธงชาต ิและธงธรรมจักร ตามวัดและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
  • ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษาและที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยาย หรือ บรรยายธรรม เกี่ยวกับวันออกพรรษา เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป
อ่านเพิ่มเติมที่

วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สระน้ำศักดิ์สิทธิ์


เป็นสระน้ำใหญ่บริเวณหลังวัด กลางสระน้ำมีศาลาทรงไทยประดิษฐานพระพุทธรูป สำหรับให้พระภิกษุหรือแม่ชีไว้ปฏิบัติสมาธิ หรือเดินจงกรม มีอยู่ครั้งหนึ่งขณะที่หลวงพ่อพยุง นั่งสมาธิอยู่นั้นได้นิมิตเห็นพระอรหันต์ท่านลงมาล้างมือที่สระน้ำ พลันดินในสระน้ำเดือดราวกับน้ำที่ถูกต้ม ซึ่งหลวงพ่อไม่ได้บอกเรื่องนี้กับใคร จนกระทั่งมีพระและแม่ชีในวัด มาเห็นว่ามีดินลักษณะรูปร่างแปลกประหลาดไม่เหมือนดินทั่วไป หลวงพ่อจึงบอกว่าเป็นดินศักดิ์สิทธิ์สามารถนำมารักษาโรคได้ หลังจากข่าวได้แพร่ออกไป มีผู้คนพากันมานับไม่ถ้วน จนสื่อต่าง ๆ ให้ความสนใจกับเรื่องนี้เป็นข่าวครึกโครม ไม่ว่าจะเป็น วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ หลังจากนั้นประมาณ 10 วัน หลวงพ่อได้บอกว่าเขาจะปิดสระแล้ว ปรากฎว่าเย็นวันนั้นฝนได้ตกลงมาอย่างหนักทำให้น้ำในสระเต็ม ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้น้ำในสระก็ไม่เคยแห้งอีกเลย

วิหารหลวงพ่อแท่น

หลวงพ่อแท่น พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่วัด

ตามประวัติกล่าวไว้ว่า แท่นศิลาแลงนี้เป็นสิ่งศักดิ์มีมาก่อนที่จะสร้างวัดขึ้น โดยการพบของชาวบ้าน และได้พากันมาสักการะบูชา บนบานสานกล่าวได้ดั่งใจคิด ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงคิดชวนกันสร้างวัดขึ้นในบริเวณนี้ ต่อมาภายหลังได้สร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัยขึ้นประดิษฐานเหนือแท่นศิลาแลงชาวบ้านจึงเรียกท่านว่า หลวงพ่อแท่น มาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยสร้างวิหารอยู่บริเวณทางเข้าประตูวัด รอบวิหารสร้างเป็นพญานาค 2 ตน พันล้อมรอบวิหารไว้อย่างสวยงามมาก ทุกวันนี้ยังมีชาวบ้าน และประชาชนทั่วไปทั้งกรุงเทพ และต่างจังหวัดมากราบไหว้ ขอพรต่อหลวงพ่อแท่นอยู่เป็นประจำมิได้ขาด 

มณฑป


มณฑปประดิษฐสถานร่างของหลวงพ่อพยุง
ร่างของหลวงพ่อที่ประดิษฐสถานภายในมณฑป

มณฑปรูปทรงจตุรมุข สร้างอยู่กลางสระน้ำ ภายในประดิษฐานร่างของหลวงพ่อพยุง ที่ไม่เน่าเปื่อยไว้ภายในโลงแก้ว โดยจะมีการสวดพระอภิธรรมตลอดมานับตั้งแต่หลวงพ่อมรณภาพ โดยจะสวดทุกวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันเกิดของหลวงพ่อ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปสักการะบูชาได้ทุกวัน 

พระมหาเจดีย์จุฬามณี

พระมหาเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  จำลองแบบมาจากพระมหาเจดีย์จุฬามณี
จากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
ตามประวัติกล่าวไว้ว่าหลวงพ่อพยุง ได้ออกแบบการก่อสร้างพระมหาเจดีย์ โดยจำลองมาจากพระมหาเจดีย์จุฬามณี ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามที่หลวงพ่อท่านได้นิมิตเห็น และภายในพระมหาเจดีย์จุฬามณีนี้ ยังได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ด้วย พระมหาเจดีย์จะเปิดให้สักการะบูชาในวันสำคัญทางศาสนาเท่านั้น